10 เม.ย. 2561

หลวงพ่อเขียว วัดหัวคู้ เส้นทางเดินทัพพระเจ้าตาก จ.สมุทรปราการ

หลวงพ่อเขียว  สุโขพุทโธภควา

วัดหัวคู้วราราม  ต.ศรีษะจรเข้ อ.บางเสาธง

จ.สมุทรปราการ

    จากซอยสุวรรณ 5 อ่อนนุช แขวงและเขตลาดกระบัง  เข้ามาตามทาง ระยะประมาณ 3 กม.  ที่นี่จะเป็นที่ตั้งของวัดหัวคู้ ซึ่งมีพระพุทธรูป ขนาดใหญ่ที่มีชื่อว่า หลวงพ่อเขียว สุโขพุทโธภควา มีที่ดินตั้งวัดเนื้อที่ 23 ไร่ 1 งาน 56 ตรว. ทิศเหนือ ติดกับคลองหัวตะเข้ หนองงูเห่า ทางทิศใต้ติดต่อกับที่เอกชน  ทิศตะวันออกติดกับ คลองจรเข้น้อย 
ที่วัดนี้ มีอุโบสถหลังเก่าและใหม่ หลังเก่าสร้างเมื่อปี
 พ.ศ. 2485  ส่วนอุโบสถหลังใหม่  สร้างปี พ.ศ 2536          
เสร็จในปี 2539  มีหลวงพ่อเขียว สุโขพุทโธภควา
หน้าตักกว้าง 9.19 ม. สูง 13 ม.                             

ประวัติวัดหัวคู้วราราม                สร้างเมื่อประมาณ ปี พ.ศ. 2409  ไม่ทราบผู้สร้างวัด ชาวบ้านเรียกต่อ ๆ กันมา ว่าวัดคู้ หรือวัดศรีษะคู้

มีรายนามเจ้าอาวาส ที่บันทึกไว้ได้ดังนี้                     

1. พระอาจารย์อยู่                                                           2.พระอาจารย์ยัง                                                             3.พระอธิการฉุย                                                               ปี พ.ศ. 2409-2444                                                      

 4. พระอธิการแตงโม
       พ.ศ.  2445-2464
5. พระอธิการพลอย
      พ.ศ. 2465-2485
6.พระอธิการอ่อน
    พ.ศ. 2485-2493
7. พระอธิการทิม
   พ.ศ.2493-2520
8.พระอธิการทอง
    พ.ศ.2520-2539
9.พระครูไพศาลพัฒน์โสภณ
  พ.ศ.2539-
10.พระครูบวรพัฒนโกศล
ปัจจุบันมีหลวงพ่อเจ้าคุณพระปริยัติวงศาจารย์ 
( ประชุม ปวโร ) เจ้าคณะตำบลศรีษะจรเข้ใหญ่ และเป็นเจ้าอาวาสวัดหัวคู้ องค์ปัจจุบัน

   มีเรื่องเล่าต่อๆ กันมาว่า ยุคสงครามพม่ารบไทย ครั้งเสียกรุงเสียอยุธยา 

พระเจ้าตากสิน พร้อมไพร่พลเดินทัพผ่านมาทางนี้  และแวะพักที่บริเวณตั้งวัดหัวคู้แห่งนี้  พระองค์ทรงเห็นว่า เป็นที่ทำเลเหมาะที่จะพักทัพเพราะมีแม่น้ำลำคลองล้อมรอบ ยากที่ข้าศึกจะเข้าตีได้ง่าย จึงได้พักทัพที่ตรงนั้น และได้สะสมเสบียงอาหารและรวบรวมไพร่พลมากขึ้น เมื่อเห็นแก่เวลาสมควรแล้ว จึงได้เดินทัพต่อไปเพื่อไปยังจันทบุรี
และพระองค์เห็นว่า ที่พักทัพนี้ต่อไปภาคหน้า ที่แห่งนี้ จะมีคุณประโยชน์อย่างยิ่งใหญ่ และตั้งจิตอธิษฐานให้สถานที่แห่งนี้เป็นวัดในอานคต จึงได้มอบพระพุทธรูปโลหะมีค่า และได้สร้างที่ครอบองค์พระไว้ ให้โปรดทหารชื่อเขียว เป็นผู้ดูแลทรัพย์สินที่ฝังไว้ในที่ดังกล่าวนี้
             มาดูประวัติหลวงพ่อเขียวองค์เดิมและองค์ปัจจุบันนี้  ตามข้อมูลของทางวัดหัวคู้ ที่ได้แจกเป็นแผ่นพับให้ข้อมูลดังนี้ ว่า พระพุทธรูปปูนปั้นสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย และปูนปั้นสมัยกรุงธนบุรี
   ตามประวัติเดิมจากคำบอกเล่าของผู้สูงอายุ เล่าสืบต่อกันมาว่า วัดหัวคู้ นี้เริ่มต้นจาก สมัยที่พระเจ้าตากสินมหาราช เสด็จตีฝ่ากองทัพพม่าที่ล้อมกรุงศรีอยุธยาออกมา ตอนใกล้จะเสียกรุงครั้งที่ 2 นั้น พระองค์ได้ฝ่า วงล้อมของพม่า มาทางทิศตะวันออก มุ่งไปทางชลบุรี และได้มาพักหนีทัพพม่าที่ชัยภูมิแห่งหนึ่ง  เป็นทำเลที่มีคูน้ำ ล้อมรอบ 2 ทาง ที่ชาวบ้านเรียกว่า คุ้งน้ำ คือเป็นจุดที่อยู่ระหว่าง คลองหัวตะเข้ มาเชื่อมกับคลองหนองงูเห่า พระองค์ได้มาพักทัพที่นี่  มีความรู้สึกปลอดภัยและสงบ  ไม่มีทหารพม่ารบกวนใจในขณะนั้น
พระองค์จึงได้อธิษฐาน ว่าที่นี่ต่อไปจะเป็นวัดที่มีความเจริญรุ่งเรือง

      พระองค์จึงได้นำพระพุทธรูปและสมบัติจากรุงศรีอยุธยา ที่รวบรวมนำติดตัวมา ( คาดว่าเป็นพระชัยหลังช้างทองคำ ) ฝังไว้ที่วัดหัวคู้แห่งนี้ และได้ก่ออิฐถือปูน เป็นแท่นสัญญลักษณ์ทับไว้ก่อน  ต่อมาได้มีนายทัพเสียชีวิตลงไปอีก พระองค์จึงได้สร้างพระเจดีย์ทับที่ฝังศพนายทัพไว้ในปัจจุบันนี้ พบว่ามีฐานพระเจดีย์อยู่ และมีชาวบ้านบางคนได้ลักลอบขุดได้ง้าว และดาบอันเป็นอาวุธประจำตัวของแม่ทัพคนนั้นไปด้วย    ในเวลาต่อมาทหารแม่ทัพนายกองของพระองค์ และชาวบ้านในบริเวณนั้น
       ได้มาทำการก่อสร้างบริเวณแท่นที่ทับสมบัตินั้นให้เป็น พระพุทธรูปปูนปั้นหน้าตักประมาณ 6 เมตร  โดยก่ออิฐถือปูนธรรมดา  คิดว่าคงจะเป็นเพราะบ้านเมืองกำลังกู้ชาติ อยู่คงไม่มีเวลาทำมากนัก   มีหลักฐานชิ้นส่วน หลวงพ่อเขียวองค์เดิม คือเม็ดพระศกที่ทำมาจากปูนโขลก คือปูนเปลือกหอยผสมน้ำอ้อย ที่ยังเก็บไว้ว่ามีอายุ ตั้งแต่ 200 ปี ขึ้นไป เม็ดพระศกมีขนาดเท่ากำปั้นผู้ใหญ่ และได้มีการก่อสร้าง เพิงไม้คลุมองค์พระไว้เท่านั้น
    ต่อมาในสมัย พระอุปัชชาย์ พลอย ประมาณปี พ.ศ.2480  ได้มีการเลื่อนองค์หลวงพ่อเขียวออกไป เพื่อที่จะสร้างอุโบสถหลังปัจจุบัน ( หลังเล็ก ) ทำให้หลวงพ่อเขียวพังทลายลง และชาวบ้านในสมัยนั้นได้พบสมบัติที่ฝังไว้ใต้ฐานของหลวงพ่อเขียวหลายอย่างเช่น พระบูชาทองคำ  หน้าตัก 3 นิ้ว พระเครื่อง เครื่องประดับต่าง ๆ ( ปัจจุบันตกอยู่กับชาวบ้านใกล้เคียงบางคน ) แต่ก็ได้มีปาฎิหาริย์เกิดขึ้น คือสมบัติอื่น ๆ ส่วนใหญ่ ได้เลื่อนไหลลงไปใต้ดิน มีเสียงดังครืดคราด เกิดเป็นหลุมขนาดลึก ที่ว่าไม้รวก 1 ลำ แหย่ลงไปไม่สุด และบางท่านก็ว่าเกิดไฟไหม้ ลุกท่วมหลุมนั้นอยู่หลายวัน
       จนถึงปัจจุบันนี้ องค์หลวงพ่อเขียวองค์เดิม ที่คาดว่า เป็นพระชัยหลังช้างทองคำ ของพระเจ้าตากสินมหาราช ยังไม่ได้เสด็จขึ้นมาจากใต้ดิน  ให้ประชาชนทั่วไปได้สักการะบูชาอีกเลย (บางท่านก็ว่า พระที่จมลงไปใต้ดินมี 3 องค์ หน้าตักประมาณศอกเศษ )  และชิ้นส่วนของหลวงพ่อเขียว ปูนปั้นนั้นได้ถูกทำลายลงหมด ด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ จึงทำให้เจ้าอาวาสสมัยนั้น ได้ทุบองค์องค์พระและไปเกลี่ยทำพื้นถนน ตั้งแต่หน้าโบสถ์ ไปจนถึงศาลาท่าน้ำ คลองหัวตะเข้ ทั้งหมดจึงทำให้เรื่องราวต่าง ๆ ได้เงียบหายไป
       ครั้นถึงวันศุกร์ที่ 18 กพ. 2520  ขึ้น 1 ค่ำ เดือน 4  หลวงพ่อบุญปลูก (พระครูไพสาลพัฒนโสภณ ) ได้ถูกนิมนต์ให้มาดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสที่วัดหัวคู้แห่งนี้  ท่านได้เดินทางมาทางเรือ ขึ้นที่ท่าน้ำคลองหัวตะเข้  ขณะที่เดินไปทางถนนเข้าหน้าอุโบสถหลังเก่า  ท่านมีความรู้สึกว่า เดินไม่ได้ ขาสั่นอ่อนแรง ก้าวขาไม่ออก ท่านจึงจึงเดินลงพื้นดินก็เดินได้เป็นปกติ  ท่านพยายามอยู่หลายครั้ง ตอนนั้นก็มีผู้อยู่ในเหตุการณ์หลายคนจำได้ดี

    หลวงพ่อบุญปลูก จึงตัดสินใจรื้อขุดถนนหน้าอุโบสถ ตลอดไปจนถึงท่าน้ำก้พบเป็นหน้าอัศจรรย์ว่า ชิ้นส่วน ปูนปั้น หลวงพ่อเขียวสมัยกรุงธนบุรี นั้น ทั้งหมดได้ถุกฝังอยู่ใต้ถนน  เป็นที่น่าสังเวชใจต่อผู้พบเห็นเป็นยิ่งนัก  และต่อมาได้มีการรื้อศาลาการเปรียญหลังเก่าก้พบชิ้นส่วนหลวงพ่อเขียว องค์เดิมที่ใต้บันไดทางขึ้นอีก  ต่อมา อีก 2 เดือน หลวงพ่อบุญปลูกได้มีกำลังใจมากขึ้น จึงทำการก่อสร้าง หลวงพ่อเขียวขึ้นใหม่ให้มีขนาดเท่าองค์เดิม
    และได้มีพระนามใหม่ว่า หลวงพ่อเขียวสุโขพุทโธภควา และได้บรรจุ ชิ้นส่วนปูนปั้นของหลวงพ่อเขียวองค์เดิม ไว้ทั้งหมด พร้อมกับพระเครื่องบางพิมพ์ที่พบตอนหลวงพ่อเขียวพังลงมา (น่าเสียดายไม่ได้ถ่ายรูปไว้ ) จะยังคงเหลือเพียงแต่เม้ดพระศกบางส่วน ที่นำมาแสดงไว้ให้ทราบถึงอายุของหลวงพ่อเขียวองค์เดิมและมีส่วนเกี่ยวข้องกับพระเจ้าตากสินมหาราชวีระกษัตริย์ ของชาวไทยอย่างไร
    ด้วยบารมีและกำลังใจจากหลวงพ่อเขียวสุโขพุทโธภควา วัดหัวคู้ได้พัฒนาขึ้นมาจากวัดเดิม ซึ่งทรุดโทรมจนกระทั่งในปัจจุบันนี้  มีการก่อสร้างอุโบสถหลังใหม่ พระมหาเจดีย์ ศาลาการเปรียญ พร้อมกันกับอบรมอย่างเข้มงวดในวัตรปฎิบัติให้งามถึงพร้อมด้วยศีล สมาธิ ปัญญา
    หลักฐานที่มีอยู่ในปัจจุบัน คือชิ้นส่วนพระศกของหลวงพ่อเขียวองค์เดิม มีขนาดเท่ากำปั้นผู้ใหญ่ และฐานพระเจดีย์เก่าซึ่งยังไม่ได้มีการขุดแต่งและบุรณะ ขอชมได้ทุกวันที่กุฎีเจ้าอาวาส และมีหลักฐานบางอย่าง จากกรมการศาสนามีชื่อปรากฏว่าหลวงพ่อเขียว และวัดหัวคู้ มีมาแต่สมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์
   ในอดีตที่ผ่านมา บางครั้งในเวลากลางคืน   จะมีชาวบ้านบางคนเห็นแสงพุ่งออกมาจากวิหารหลวงพ่อเขียว เสมอ และบางครั้งจะเห็นพระเจ้าตากสินมหาราช แต่งเครื่องทรงพระมหากษัตริย์เต็มพระองค์ออกเดินไปในบริเวณวัด   และในวัดหัวคู้ก็ได้มีการสร้าง รูปเหมือนองค์พระเจ้าตากสินมหาราชไว้ให้ประชาชนกราบสักการะบูชาพระคุณด้วย นี่เป็นส่วนหนึ่งบางตอน  ที่ได้บันทึกไว้ เมื่อ 1 ธค.2536  จากคำบอกเล่าของ พระครูไพศาลพัฒนโสภณ พระอาจารย์ วน ชิตมาโร คุณตานิ่มเผือก แสงทิพย์ อายุ 90 ปี   คุณยายมาลี ชูอำไพ ท่านผู้ใหญ่โพธิ์ ศรีเกตุ

(หมายเหตุเรื่องนี้ ของพระนามหลวงพ่อเขียวสุโขภควา )
  มาจากเหตุดังนี้
1.พระนามเดิมของพระองค์ คือหลวงพ่อเขียว เนื่องจากตอนนั้นมีนายกองเสียชีวิตลงมีชื่อว่า เขียว
2.องค์พระเดิมเป็นปูนปั้น ตะไคร้น้ำจับมากทำให้แลดูลักษณะ เหมือนสีเขียว หุ้มองค์พระ
3.ศิลปะพระพักตร์ ที่ปั้นองค์ใหม่ พ.ศ.2520 เป็นแบบสุโขทัย อก เป็นแบบเชียงแสน หน้าตักแบบรัตนโกสินทร์
4.พุทโธ เป็นนามพรพุทธเจ้า แปลว่า ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน ภควา แปลว่า ผู้มีโชค

 นี่คือคาถาบูชา หลวงพ่อเขียว สุโขพุทโธ ภควา  ตั้ง นโม 3 จบ ระลึกถึงครูบาอาจารย์ ผู้มีพระคุณ แล้วกล่าวคำ ว่า พุทโธภควา 3 ครั้งแล้วอธิษฐานขอในสิ่งที่พึงปรารถนา ในทางสุจริต
   บันทึกเที่ยวในความทรงจำ  จึงได้บันทึกเรืองราวความเป็นมานี้ไว้ ให้อยู่ในความทรงจำของผู้เขียน และเป็นข้อมูลได้รับรู้เรื่องราวต่าง ๆ ไว้ตลอดไป..
                                                                  ณ  วงเดือน..


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น