19 ต.ค. 2563

วัดหินหมากเป้ง อ.ศรีเชียงใหม่ จ.หนองคาย

โดย.ณ วงเดือน
ผมได้มาเยือนเที่ยวชม ตามรอยพระอริยะ ครั้งนี้ได้มาที่วัดหินหมากเป้ง ตั้งอยู่หมู่ 4 บ้านไทยเจริญ อ.ศรีเชียงใหม่ จ.หนองคาย ซึ่งเป็นวัดที่หลวงปู่เทศก์ อยู่ที่นี่
ซึ่งเป็นวัดตั้งอยู่ริมแม่น้ำโขง บนชะแง่นหินผา บนหินใหญ่ 3 ก้อน เรียกหินหมากเป้ง ซึ่งความหมายคือหินก้อนใหญ่ ที่ตั้งเรียงรายกันอยู่ด้านผาหน้าวัด ริมแม่น้ำโขง
วัดนี้ก่อตั้งเมื่อ ปี 2482 โดยพระอาจารย์หล้า ได้รับการตั้งเป็นวัดที่ถูกต้อง เมื่อ ปี 2513 เมื่อเข้ามาด้านในวัด ทางด้านซ้ายมือของเราจะมายังที่เคยทำพิธีพระราชทานเพลิงศพของหลวงปู่ และถัดมาไม่ไกลกันมากเป็นที่ตั้งเจดีย์พิพิธภัณฑ์พระราชนิโรธรังสี ฯ ของหลวงปู่ ดูมีความสงบร่มเย็น ในทางธรรม และร่มรื่นในธรรมชาติสวยงามมาก

ประวัติของ หลวงปู่เทสก์ เทสรังสรี ท่านเกิดเมื่อ 26 เมษายน 2445 ที่บ้านนาสีดา ต.กลางใหญ่ อ.บ้านผือ จ.อุดรธานี เมื่อายุ 18 ได้เป็นสามเณรลูกศิษย์ติดตามพระอาจารย์สิงห์ ขันตยาคโม และได้อุปสมบทที่วัด สุทัศนาราม จ.อุบลฯ เมื่อ 16 พฤษภาคม 2466 มีพระมหารัฐ เป็นอุปัชชาย์ มีพระมหาปิ่น เป็นพระกรรมาจารย์
ในปี 2466. หลังจากอุปสมบทพรรษาที่ 1 นั้นได้ตาม พระอาจารย์สิงห์ มากราบหลวงปู่เสาร์ กันนตสีโล และหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต ที่วัดป่าสุทธาวาส จ.สกลนคร และที่วัดบ้านค้อ อ.บ้านผือ จ.อุดรธานี
มาในปี 2468 เป็นพรรษาที่ 3 ท่านได้มาจำพรรษาที่บ้านนาช้างน้ำ ท่าบ่อ จ.หนองคาย จากนั้นได้ตามท่านหลวงปู่มั่น ไปที่สำนักสงฆ์ บ้านสามผง จ.นครพนม ได้ถวายการปฎิบัติหลวงปู่มั่น และได้ปฎิบัติวิปัสสนา และฟังธรรมจากหลวงปู่ตลอดพรรษา
ในพรรษาที่ 12 ปี พศ.2477 ท่านได้ขึ้นไปภาคเหนือ อยู่จำพรรษาที่ ป่าเมี่ยง บ้านมูเซอร์ ดอยแม่ปั๋ง จ.เชียงใหม่
และพรรษาที่ 16 ปี พศ.2481 มาจำพรรษา ที่ อ.ปากบ่อง (ป่าซาง ) จ.ลำพูน เพื่อเผยแพร่ธรรมคำสอนแก่ชาวมอญ
และในปี พศ. 2493 หลวงปู่เทสก์ ท่านได้เดินธุดงค์ลงมาทางภาคใต้ มาอยู่จำพรรษา ที่ จ.ภูเก็ต- พังงา นานถึง 15 ปี ท่านเป็นทั้งพระนักพัฒนาและสายปฎิบัติกัมมัฎฐานตามรอยหลวงพ่อใหญ่ หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต อย่างเคร่งครัด
หลังจากนั้นท่านได้หวนคืนสู่ภาคอิสาณ มาจำพรรษาที่ วัดถ้ำขาม จ.สกลนคร แล้วเมื่ออกพรรษาแล้ว ท่านยังคือธุดงควัตรได้ออกเดินธุดงค์มายังวัดหินหมากเป้ง เห็นสถานที่แห่งนี้เงียบสงบ อยู่ติดริมแม่น้ำโขงเหมาะแก่การปฎิบัติธรรม ท่านจึงอยู่และพัฒนาจนวัดเจริญขึ้นตามลำดับ
ในช่วงเข้าสู่วัยชรา หลวงปู่เทสก์ ท่านได้กลับไปจำพรรษายัง วัดถ้ำขาม จ.สกลนครและละสังขารด้วยวัยชรา เมื่อ 19 ธันวาคม 2537 สิริอายุได้ 93 ปี 71 พรรษา
การเดินทางมายังวัดหินหมากเป้ง มาได้ทั้งรถยนต์ส่วนตัว และสาธารณะโดยสารประจำทางได้ โดยใช้ทางหลวงหมายเลข 211. หนองคาย-ศรีเชียงใหม่ ถึง กม.64 และต่อมาบนเส้นทางหลวง 2186 ห่างจากตัว จังหวัดหนองคาย 75 กม. วัดจะอยู่ด้านขวามือ ริมฝั่งแม่น้ำโขง
ก้อนหินใหญ่ 3 ก้อนคนเฒ่าคนแก่เล่าว่า หินก้อนที่ 1 เป็นของหลวงพระบาง หินก้อนที่ 2 เป็นของบางกอก ก้อนที่ 3 ของเวียงจันทร์

มาถึงช่วงสุดท้ายของเรื่องราววัดหินหมากเป้ง กับเรื่องราวประวัติคร่าว ๆ ของหลวงปู่เทสก์ เทสรังสี ซึ่งเป็นที่เคารพศรัทธากราบไหว้ของผู้คน ทั้งไทย-ลาว สองฟากฝั่งแม่น้ำโขง ก็เป็นความปลื้มปิติใจ มีบุญวาสาได้มากราบไหว้ ของทางผู้เขียนที่ได้มาเยือนกราบไหว้หลวงปู่ ถึงริมสุดแม่น้ำโขงแห่งนี้
ในการเดินทางมาตามรอยพระอริยะ ของบันทึกเที่ยว ในความทรงจำ ครั้งนี้ จึงบันทึกไว้เป็นอีกเรื่องราวหนึ่ง ให้อยู่ในความทรงจำดี ๆ ตลอดไป.


๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑

12 ต.ค. 2563

อุทยานสวนแก้วกู่​ อ.เมือง​จ.หนองคาย

โดย.ณ​วงเดือน

      บันทึกเที่ยว ในความทรงจำ ได้มีโอกาศมา จ.หนองคาย และได้แวะเยี่ยมชม อุทยานเทวาลัย ศาลาแก้วกู่ ตั้งอยู่ในชุมชนสามัคคี อ.เมืองหนองคาย จึงขอบันทึกไว้อีกเรื่องราวไว้เป็นความทรงจำ ดีๆ ที่ได้มาเที่ยวชมที่แห่งนี้

สถานที่แห่งนี้ ถือเป็นอีกแห่งที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวของผู้คน ที่มาเที่ยวยังเมืองหนองคาย มักจะมาเที่ยวชมกันมาก เพราะอยู่ห่างจากตัวเมืองหนองคาย แค่ 3 กม.เท่านั้นเอง


อุทยานเทวาลัยหรือชาวบ้านเรียกว่า วัดแขกแห่งนี้ เป็นแหล่งท่องเที่ยวกลางแจ้ง ที่มีสิ่งก่อสร้างด้วยอิฐปูน ปั้นสูงตระหง่าน กับรูปเทพต่าง ๆ ทั้งไทยพุทธ คริสและฮินดู บนเนื้อที่ กว่า 42 ไร่ เริ่มก่อสร้างขึ้นในช่วงปี พ.ศ. 2521
สร้างขึ้นมาด้วยความเชื่อและศรัทธา ของปู่ บุญเหลือ สุรีรัตน์ ที่ท่านเชื่อว่าทุกศาสนาผสมผสานกันได้ ต้องการให้อุทยานเทวาลัย หรือศาลาแก้วกู่ เป็นดินแดน  สถานที่แห่งการหลุดพ้น  จากกิเลสทั้งหลายทั้งปวง


ในการเข้าไปเที่ยวชมยังอุทยานเทวาลัย แห่งนี้ เปิดทำการแต่เวลา 06.00 น. ถึงเวลา 18.00 น. ของทุกวัน มีค่าใช้ธรรมเนียมเข้า ผู้ใหญ่ 20 บาท เด็ก 10 บาท
สถานที่แห่งนี้ ถือเป็นแหล่งท่องเที่ยวกลางแจ้ง ที่ผู้คนมักพาบุตรหลานมาเดินเที่ยวชม ออกกำลังไปในตัว


เดินเข้ามาด้านใน พบกับศิลปะปูนปั้นรูปแบบต่าง ๆ ส่วนใหญ่จะเกี่ยวกับตำนานทางพุทธศาสนา มีการปั้นเรื่องราว ประสูติ ตรัสรู้ ปรินิพพาน เป็นหลัก


รูปปั้นพญานาคราช 7 เศียร ครั้งพระพุทธเจ้าตรัสรู้ใหม่ ฝนตกหนักท่านได้มาแผ่เบี้ยพังพาน เพื่อบังสายฝนที่ตกหนัก ไม่ให้พระองค์ต้องลมและสายฝน เป็นอีกแห่งหนึ่งที่ดูมีความเข้มขลังอีกที


นอกจากนี้ยังมีรูปพระโพธิสัตว์ วิมลเกียรติคฤหบดีผู้แตกฉานในอรรถธรรมญาณในกาลครั้งหนึ่ง ได้เกิดอาพาธ จึงได้นิมนต์พระพุทธเจ้าให้ไปเยี่ยมไข้
ทำให้พระองค์เสด็จไปเยี่ยม และได้หายป่วยเป็นอีกเรื่องราวหนึ่งที่ได้ปั้นไว้เป็นความรู้แก่ผู้คน

ด้านในอุทยาน ยังมีการปั้นรูปของ เจ้าแม่นาคี ที่เคยโด่งดังจากทีวี ช่องหนึ่งเมื่อหลายปีก่อน ก็มีปั้นไว้นานแล้วที่นี่ นอกจากนั้นยังมีรูปพระแม่เทวีต่าง ๆ ตามตำนานความเชื่อทั้ง ในศาสนาพราหมณ์ และฮินดู ปางต่าง ๆ กัน ตามเรื่องราวในเรื่องของรามเกียรติ์อีกด้วย
อีกด้านหนึ่ง มีการปั้นแต่งเป็นรูปปั้นปริศนาของชีวิต นั้นคือ พระกาลซึ่งปั้น เป็นรูปปากอ้ากว้าง ที่กลืนกินทุกทรรพสิ่งให้หายไปตามกาลเวลา


อุทยานกลางแจ้ง มีทางเดินชมปฎิมากรรมรูปปั้นตามทางเดินทะลุถึงกันได้ แบ่งเป็นโซนต่าง ๆ อย่างลงตัว


รูปปั้นเทพและพระพุทธรูปปูนปั้นเปลือย แบบเรียบง่ายแต่มีความ สวยงามโดดเด่น มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ถือเป็นจุดเด่นของสถานที่แห่งนี้
ศาลาแก้วกู่แห่งนี้ สามารถมาได้หลายเส้นทาง ทั้งจากทางหลวง หมายเลข 212  มุ่งหน้าไปทาง อ.โพนพิสัย อุทยานเทวาลัยนี้ จะอยู่ฝั่งตรงข้ามถนน ซึ่งจะเห็นป้ายบอกทางมา ยังศาลาแก้วกู่  อย่างชัดเจน เลี้ยวเข้าไปจากถนนใหญ่แค่เพียง 500 เมตร เท่านั้นก็จะพบลานจอดรถ และร้านค้าขายของที่ระลึกด้านหน้าทางเข้า


บันทึกเที่ยว ในความทรงจำ ได้มาเที่ยวชม และมีความประทับใจ ในที่แห่งนี้ ถือเป็นสถานที่ท่องเที่ยวอีกแห่ง ที่มาเยือนแล้วทำให้เกิดความทรงจำดี ๆ จึงขอบันทึกไว้เป็นอีกเรื่องราวหนึ่งในที่แห่งนี้.

ชมพุทธอุทธยาน จ.นครนายก

ไปเที่ยวชม พุทธอุทยาน จ.นครนายก
โดย.ณ วงเดือน

จ.นครนายก มีแหล่งท่องเที่ยว ทั้งวัดวาอาราม ภูเขาลำเนาไพร ท่องป่า เดินเขา ชมน้ำตก และสถานที่สิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ผู้คนนิยมมา ไหว้กราบขอขอพร ก็มีอยู่หลายที่
ครั้งนี้บันทึกเที่ยว ในความทรงจำ ได้มาเที่ยวชมยังพุทธอุทยาน จ.นครนายก ซึ่งที่นี่ถือเป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวพุทธที่นี่ เรียกกันว่า พุทธอุทยานมาฆบูชาอนุสรณ์ หรือว่า สวนพุทธชยันตี 2600 ปี
พุทธอุทยานสถานนี้ ตั้งอยู่ที่พื้นที่บ้านหมู่ 3 ต.สาริกา อ.เมือง จ.นครนายก ที่นี่มีเนื้อที่ 53 ไร่ มีจุดเด่นคือ มีพระพุทธรูปขนาดใหญ่ปางแสดงธรรม โอวาทปาติโมกข์ มีความสูงถึง 13.5 เมตร ขนาดหน้าตักกว้าง 9 เมตร และมีสงฆ์พุทธสาวก อีกจำนวน 1,250 องค์ ขนาดหน้าตัก 90 ซม.
ซึ่งพื้นที่โดยรอบ มีอาณาบริเวณจอดรถ สะดวกสบายพอสมควร พุทธอุทยานนี้ มีหลวงพ่อ " พระราชพิพัฒน์โกศล เจ้าอาวาสวัดศรีสุดาราม เขตบางกอกน้อย กทม.เป็นประธานในการดำเนินการก่อสร้าง ในโอกาศครบ 2600 ปี แห่งการตรัสรู้ ของพระพุทธเจ้า เริ่มก่อสร้างเมื่อเดือนมกราคม ปี พ.ศ.2555 ที่ผ่านมา

และท่านถือเอาฤกษ์ วันมาฆบูชา วันที่ 7 มีนาคม 2555 เป็นวันเททองหล่อ พระเกตุพระพุทธรูป ปางแสดงธรรมโอวาทปาติโมกข์ ขึ้นเป็นครั้งแรก พร้อมปั้นรูปพระสงฆ์อรหันตสาวก รายรอบอีก 1,250 องค์ และพระอสีติมหาสาวก อีก 80 องค์
ด้านหลังของสวนพุทธอุทยาน ยังมีรูปปั้นองค์พิฆเณศร์ ขนาดใหญ่ ให้นักท่องเที่ยวได้ชมและ กราบไหว้กันอีกด้วย
ในอาคารด้านหน้าของ ที่ตั้งองค์พระพุทธรูปแสดงธรรมนั้น ยังมีปฎิมากรรมจากการปั้นทรายเป็นรูปต่าง ๆ อย่างสวยงามอีกด้วย โดยปฎิมากรรมปั้นทราย จัดแสดงนี้ มีพื้นที่ความยาวกว่า 54 เมตร ใช้ทรายจากแม่น้ำ รวมน้ำหนักกว่า 100 ตัน
มีรูปปั้นทั้งเมืองนรก เทวทูต ยมราช พญาครุฑ นาคราช ตลอดจนตำนานเกี่ยวกับพุทธประวัติ และพระพุทธปางต่าง ๆ อีกด้วย
รูปปั้นทรายกงล้อแห่งธรรม มีความละเอียดปราณีตสวยงามมากของช่างปั้นทราย ดูสวยงามราวกับมีชีวิตชีวา ในแต่ละรูปปั้นทรายที่จัดแสดงให้ชม
การเดินทางมายังที่พุทธอุทยานแห่งนี้ อยู่ระหว่างเส้นทางไปน้ำตกสาริกา ติดถนนหมายเลข 3050 ซึ่งเปิดให้เข้าเที่ยวชมได้แต่เวลา 08.00-18.00 น. ของทุกวัน ซึ่งพุทธอุทยานแห่งนี้ มีรูปปั้นพระอรหันต์ที่มีชื่อเสียงด้านต่าง ๆ ทั้ง ปัจจวัคคี ทั้ง 5 อีกด้วย
บันทึกเที่ยว ในความทรงจำ ได้มาเที่ยวเยือนเยี่ยมชมแล้วจึงขอ บันทึกไว้ให้อยู่ในความทรงจำ อีกเรื่องให้คงอยู่ตลอดไป.