25 พ.ค. 2562

หลวงพ่อวัดไร่ขิง อ.สามพราน จ.นครปฐม

ไปกราบขอพรหลวงพ่อวัดไร่ขิง

        อ.สามพราน จ.นครปฐม

                ----------

             โดย.. ณ วงเดือน


          หลวงพ่อวัดไร่ขิงเป็นพระพุทธรูป 3 พี่น้องที่เป็นที่รู้จักของผู้คนทั้งในประเทศและต่างประเทศ นั้นคือ หลวงพ่อโสธร จ.ฉะเชิงเทรา  หลวงพ่อวัดบ้านแหลม จ.สมุทรสงคราม และหลวงพ่อวัดไร่ขิง อ.สามพราน จ.นครปฐม 


               ซึ่งความเป็นมาของหลวงพ่อวัดไร่ขิง ที่ทางผู้เขียนได้ไปกราบไหว้และนำมาบันทึกไว้เป็นเรื่องราวความทรงจำ และไว้เป็นข้อมูลในการให้ได้รับความรู้แก่ตนเองด้วย จึงได้ค้นประวัติและเรื่องราวต่าง ๆ มาบันทึกไว้ที่ตรงนี้ด้วย  ซึ่งจะขอกล่าวเขียนถึงดังนี้


            
         วัดไร่ขิง พระอารามหลวง หรือ วัดมงคลจินดาราม ตั้งอยู่ที่อำเภอสามพรานห่างจากกรุงเทพฯ 32 กม. มีทางเข้า 3 ทาง คือ ทางแยกหน้าสถานีตำรวจโพธิ์แก้ว ทางแยกหน้าสวนสามพราน และทางแยกพุทธมณฑลสาย 5 วัดไร่ขิง เป็นวัดราษฎร์ สร้างเมื่อ พ.ศ. 2334 โดยสมเด็จพระพุฒาจารย์ (พุก) เรียกชื่อวัดตามชื่อตำบล เมื่อสร้างเสร็จแล้ว ได้อัญเชิญพระพุทธรูปจากวัดศาลาปูนมาประดิษฐานไว้ที่วัดไร่ขิงด้วย 

                             ปัจจุบันชาวบ้านเรียกกันว่า หลวงพ่อวัดไร่ขิง เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย หน้าตักกว้าง 4 ศอก 2 นิ้วเศษ สูง 4 ศอก 16 นิ้วเศษ พุทธลักษณะเป็นสมัยเชียงแสน สันนิษฐานว่าเป็นฝีมือช่างสมัยไทยล้านนา และล้านช้าง ตามตำนาน เล่าว่าลอยน้ำมา และอัญเชิญขึ้นไว้ที่วัดศาลาปูน วัดไร่ขิงนี้ สมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระยาวชิรญาณวโรรส พระราชทานนามให้ว่า วัดมงคลจินดาราม (ไร่ขิง) แต่ชาวบ้านเรียกกันเต็ม ๆ ว่าวัดมงคลจินดารามไร่ขิง จนกระทั่งเหลือแต่ชื่อวัดไร่ขิงไปในที่สุด
        ตามตำนานกล่าวถึงการได้มาซึ่งหลวงพ่อวัดไร่ขิงว่าได้ถูกอัญเชิญมากจากกรุงเก่า (พระนครศรีอยุธยา)
เป็นพระพุทธรูปที่ประชาชนนับถือมาก  ในวันที่อัญเชิญหลวงพ่อวัดไร่ขิงขึ้นจากท่าน้ำที่หน้าวัดไร่ขิง
ตรงกับวันพระขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๕  เป็นวันสงกรานต์  มีประชาชนมาชุมนุมกันมาก  ในขณะที่อัญเชิญ
หลวงพ่อวัดไร่ขิงขึ้นจากน้ำสู่ประรำพิธี  เกิดความมหัศจรรย์  แสงแดดที่แผดจ้ากลับพลันหายไป
ความร้อนระอุในวันสงกรานต์กลางเดือนห้า บังเกิดมีเมฆดำทะมึน ลมปั่นป่วน ฟ้าคะนองก้องในนภากาศ
บันดาลให้ฝนโปรยลงมา ยังความเย็นฉ่ำใจทั่วหน้าทุกคนในที่นั้นเกิดความยินดี  พากันอธิษฐานจิต
ขอหลวงพ่อจักทำให้เกิดความร่มเย็นเป็นสุขดับความร้อนคลายความทุกข์ให้หมดไป ดุจสายฝน
ที่เมทนีดลทำให้ชุ่มฉ่ำ  เจริญงอกงามด้วยธัญญาหาร
                               หลวงพ่อวัดไร่ขิง  เป็นพระประธานในพระอุโบสถวัดไร่ขิง อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม
ไม่มีชื่อเรียกเฉพาะ ประชาชนทั่วไปมักเรียกว่า “หลวงพ่อวัดไร่ขิง” เรียกตามชื่อวัด ตามตำนาน
กล่าวว่าหลวงพ่อทำด้วยเนื้อสัมฤทธิ์ ประทับนั่งปางมารวิชัยหรือปางชำนะมารแบบประยุกต์
หลวงพ่อวัดไร่ขิงมีลักษณะผึ่งผายคล้ายเชียงแสน  พระหัตถ์เรียวงามตามแบบสุโขทัย
แต่พระพักตร์ดูคล้ายรัตน์โกสินทร์


        บางตำนานเล่าว่า 
มีพระ 3 องค์ ลอยน้ำมาพร้อมกัน และแสดงปาฏิหาริย์จะเข้าไปยังบ้านศรีมหาโพธิ์ ซึ่งมีต้นโพธิ์ใหญ่อยู่ จึงได้เรียกตำบลนั้นว่า "บางพระ" พระพุทธรูป 3 องค์ลอยไปจนถึงปากน้ำท่าจีนแล้วกลับลอยทวนน้ำขึ้นมาใหม่ จึงเรียกตำบลนั้นว่า "สามประทวน" หรือ "สัมปทวน" ในเขต จ.ฉะเชิงเทรา  แต่เนื่องจากตำบลที่ชาวบ้านพากันไปชักพระขึ้นฝั่งเพื่อขึ้นประดิษฐาน ณ หมู่บ้านของตน แต่ทำไม่สำเร็จ ต้องเปียกฝนและตากแดดตากลมจึงได้ชื่อว่า "บ้านลานตากฟ้า" และ "บ้านตากแดด" ในที่สุดพระพุทธรูปองค์แรกจึงยอมสถิต ณ วัดไร่ขิงเรียกกันว่า 


     "หลวงพ่อวัดไร่ขิง" ส่วนองค์ที่ 2 ลอยน้ำไปแล้วสถิตขึ้นที่วัดบ้านแหลมจังหวัดสมุทรสงคราม เรียกว่า "หลวงพ่อวัดบ้านแหลม" และองค์ที่ 3 ลอยตามน้ำมาขึ้นที่ท่าน้ำหน้าวัดเเสาทงทร แล้วเพี้ยนมาเป็นวัดเสาทอน และโสธรตามลำดับจึง เรียกว่า "หลวงพ่อโสธร"  มาแต่บัดนั้น
         หลวงพ่อพระเดชพระคุณ  พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ เจ้าอาวาสไร่ขิง องค์ปัจจุบันได้นำอภินิหารและอิทธิฤทธิ์ บางส่วนจากผู้ศรัทธาหลวงพ่อ มาบันทึกไว้ในหนังสือ ประวัติวัดและหลวงพ่อวัดไร่ขิง เช่น

- หลวงพ่อวัดไร่ขิง มีอภินิหารปิดทองไม่ติด ทั้ง ๆในแต่ละปีมีประชาชนมาปิดทองหลวงพ่อเป็นจำนวนนับไม่ถ้วน
- หลวงพ่อวัดไร่ขิง มีความศักดิ์สิทธิและอภินิหาร ในการป้องกันสิ่งต่างๆ ตามความรู้สึกของแต่ละคนที่ตั้งใจปรารถนา
- น้ำมันและน้ำมนต์ของหลวงพ่อ รักษาโรคภัยต่างๆ ได้สมใจปรารถนา
- หลวงพ่อวัดไร่ขิง ช่วยให้รอดพ้นจากความตาม เพียงแค่ตั้งจิตถึงหลวงพ่อ
- หลวงพ่อวัดไร่ขิง ปิดตาขโมยได้ ป้องกันไฟไหม้
- หลวงพ่อวัดไร่ขิง เป็นทุกอย่างได้ตามแรงอธิษฐานของคนอยากให้เป็น
  นี่คือส่วนหนึ่งที่ประวัติความเป็นมาตามตำนานคร่าว ๆ ที่ผู้คนที่ได้พบเห็นได้นำมาเล่าสู่กันฟัง จากปากสู่ปากรุ่นสู่รุ่น ว่ามีความเป็นมาเช่นไร  บ้าง 
                             ซึ่งทางผู้เขียนจึงได้รวบรวมในความเป็นมาของหลวงพ่อวัดไร่ขิง มาบันทึกไว้ยัง nawongduen travel note.com  ของผู้เขียนเพื่อได้รู้เป็นข้อมูล และยังให้จิตใจชื่นบาน รับรู้เรื่องความเป็นมาของ องค์หลวงพ่อวัดไร่ขิงด้วย  จึงขอบันทึกเรื่องราวไว้ในความทรงจำตลอดไป..
                                                                                


    @@@@@@@@@@@@

หลวงปู่คำคะนิง วัดถ้ำคูหาสวรรค์ อ.โขงเจียม จ.อุบลฯ

       ไปกราบสรีระสังขาร

 หลวงปู่คำคะนิง  จุลมณี

วัดถ้ำคูหาสวรรค์  อ.โขงเจียม จ.อุบลฯ


โดย. ณ  วงเดือน


     นานหลายปีที่มีความตั้งใจที่จะไปกราบสรีระสังขาร ของปู่คำคะนิง ที่วัดถ้ำคูหาสวรรค์ จนได้มีบุญได้มีโอกาศไปอย่างสมใจนึกเมือปีที่ผ่านมา
 

        พร้อมกันนี้จึงได้รวบรวมหาข้อมูลมาบันทึกไว้ยัง บันทึก ออนทัวร์ ทาเวล ในครั้งนี้ด้วยเพื่อบันทึกเรื่องราว  ของหลวงปู่และได้รู้เป็นข้อมูลและประวัติความเป็นมา ของวัดและประวัติของหลวงปู่่ เพื่อได้เป็นแหล่งความรู้ของผู้เขียนเอง

    ท่านเกิด ที่บ้านหนองบัว แขวงคำม่วน ประเทศลาว เมื่อวันพุธ เดือน ๔ ปีกุน พ.ศ ๒๔๓๗  ท่านบวชเป็นตาชีปะขาว ถึง 15 ปี เพื่อปฎิบัติธรรมแบบโยคี หรือว่า ฤาษี  เดินท่องเที่ยวไปในป่าเขาทั้งป่าในเมืองไทยและป่าเขาลำเนาไพร ที่เมืองลาวจนเป็นที่เลื่องลือไปทั้วทั้งสองแผ่นดินไทยลาว ในยุคสมัยนั้น จนต่อมาโยคีคำคะนิง ดั้นด้นไปยังภูอีด่าง ซึ่งสมเด็จลุนพระอริยเจ้าแห่งราชอาณาจักรลาวจำพรรษาอยู่ พร้อมแจ้งวัตถุประสงค์ของตนให้ท่านทราบ 

             สมเด็จให้ความปราณีมอบคัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์ให้โยคีคำคะนิงไปค้นคว้า ศึกษา ครั้นท่านโยคีคำคะนิงศึกษาธรรมจากพระคัมภีร์เรียบร้อยก็เอาเก็บไว้ที่เดิม มิได้นำมาเป็นสมบัติส่วนตัว โยคีคำคะนิงลงจากภูเขาได้พบชาวบ้าน และได้ทำการรักษาคนป่วยจนหายทุเลา ท่านเดินทางไปเรื่อย เจอใครก็รักษาโรคภัยให้หมด  ณ วัดหอเก่าแขวงนครจำปาศักดิ์ คือศาสนสถาานที่กำหนดให้เป็นวัดอุปสมบทของปะขาวคำคะนิง มีประกาศป่าวร้องให้ประชาชนทั่วไปได้รู้ถึงวันอุปสมบทปะขาวคำคะนิง โดยพระเจ้าศรีสว่างวัฒนา ทรงมีพระบรมราชานุเคราะห์ให้จัดขึ้น พอถึงวันอุปสมบท ประชาชนทุกชนชั้นทุกอาชีพ ตลอดจนข้าราชการทุกหมู่เหล่าต่างมาร่วมในงานพระราชพิธีแน่นขนัดเป็นประวัติการณ์ แต่ละคนเตรียมผ้าไหมแพรทองมาด้วยเพื่อจะมาปูรองรับเส้นเกศาของปะขาวคำคะนิง ตอนแรกจะมีการแจกเส้นเกศาให้แก่ประชาชนโดยทั่วถึงกันหมด

ครั้นถึงเวลปลงผมจริงๆ ประชาชนกลัวจะไม่ได้เส้นเกศาจึงแออัดยัดเยียดเข้ายื้อแย่งกันอลหม่าน เกินกำลังเจ้าหน้าที่รักษาการจะห้ามปรามสกัดกั้นได้ ในที่สุดเหตุการณ์ก็สงบลงเมื่อเส้นเกศาถูกแย่งเอาไปจนหมด
จากนั้นพระราชพิธีอุปสมบทก็ดำเนินต่อไปโดยมีสมเด็จพระสังฆราชทรงเป็นองค์ประธานฝ่ายสงฆ์ เจ้ามหาชีวิตพระเจ้าศรีสว่างวัฒนา ทรงเป็นองค์ประธานฝ่ายฆราวาส มีพระเถระชั้นผู้ใหญ่เข้าร่วมพิธี ๒๘ รูป เมื่อพิธีการอปุสมบทเสร็จสิ้นปะขาคำคะนิงซึ่งครองเพศพรหมจรรย์ เป็นพระภิกษุในบวรพระพุทธศาสนาแล้ว ได้รับฉายาว่า สนฺจิตฺโตภิกขุ” หรือพระคำคะนิง สนฺจิตฺโต” หลังจากเป็นพระภิกษุ พระคำคะนิง สนฺจิตฺโต ก็กลับขึ้นไปจำพรรษาอยู่ที่ถ้ำบนภูอีด่างเช่นเดิม ดำรงวัตรปฏิบัติตามแนวทางของพระป่าอย่างเคร่งครัด และนับตั้งแต่เป็นพระภิกษุคำคะนิง สนฺจิตฺโต ประชาชนก็ยิ่งหลั่งไหลไต่ภูเขาขึ้นไปกราบนมัสการ และขอความช่วยเหลือจากท่านจนไม่มีเวลาปฏิบัติภาวนาบำเพ็ญธรรม  วันหนึ่ง..พระคำคะนิง สนฺจิตฺโต ก็หายไปจากภูอีด่าง และไม่กลับมาอีกเลย ประชาชนลาวรู้แต่ว่าท่านออกธุดงค์สาบสูญไปแล้ว ต่างพากันร่ำไห้โศกเศร้าอย่างน่าสงสาร
หลวงปู่ชอบจารึกธุดงค์ฝั่งลาวเพราะหมู่บ้านยังไม่เยอะเท่าฝั่งไทย ป่ายังมีความอุดมสมบูรณ์ และในช่วงปลายชีวิตท่านก็ตัดสินใจจำพรรษา วัดถ้ำคูหาสวรรค์ อ. โขงเจียม จ. อุบลราชธานี เป็นที่สุดท้ายของท่าน
         หลวงปู่ป่วยเป็นโรคปอดบวม และได้มรณภาพเมื่อวันที่ ๑๗ เมษายน พ.ศ. ๒๕๒๘ เวลา ๑๑.๑๓ น. ณ โรงพยาบาลสรรพสิทธิ์ประสงค์ ท่านได้อยู่ในเพศฤาษีได้ ๑๕ ปี และอยู่ในร่มกาสาวพัสตร์ ๓๒ พรรษา บันทึก ออนทัวร์ ทาวล จึงได้รวบรวมข้อมูลมาไว้ในอนุทินบันทึกไว้ในความทรงจำของผู้เขียนต่อไป..







10 เม.ย. 2561

องค์เจ็ก องค์จอม พระคู่เมืองเสียมเรียบ


วิหารองค์เจก องค์จอม

        พระคู่บ้าน คู่เมือง 

 ที่เคารพนับถือของชาวเขมร

โดย. ณ  วงเดือน 


    ผมเขียนบันทึกเรื่องราวในสิ่งต่าง ๆ ที่ได้ไปท่องเที่ยวพบเจอมา แล้วบันทึกไว้ให้เป็นความทรงจำให้คงอยู่ตลอดไป เพราะโอกาศที่จะได้กลับไปอีกยังที่แห่งนั้นจะน้อยมาก จึงได้ทำการบันทึกไว้     

           ในตัวเมืองเสียมเรียบนี้ เป็นเมืองที่สมัยโบราณกองทัพของสยาม คือไทยสมัยนี้ ได้ยกทัพมาทำศึกที่นี่ และทำการฆ่าและทำลายจนที่แห่งนี้ ราบเรียบ จึงเป็นที่มาของชื่อเมือง จากกองทัพสยามยกมาตีว่าเมือง เสียมเรียบ หรือ ที่มาจากคำว่า สยามมาทำลายจนราบเรียบ นั้นเอง
              องค์เจก องค์จอม เป็นเทวรูปเพศหญิง คนส่วนใหญ่คิดว่าเป็นพี่น้องสายเลือดเดียวกันโดยองค์ใหญ่คือองค์เจก ส่วนองค์เล็กเป็นองค์จอม เทวรูปทั้งสองเขาได้ตั้งสันนิษฐานว่าสร้างมาจากทองแดง ที่มีน้ำหนักประมาณ ๑๕๐ กิโลกรัม แล้วนำเอาไปตั้งไว้บูชาที่อาศรมที่สวยแล้วกว้างใหญ่ด้วย อ้างตามคำเล่าขานตำนานต่อๆกันมาเกี่ยวกับองค์เจกองค์จอมว่า อดีตกาลรูปปั้นทั้งสองนี้คือเป็นรูปของธิดา(ลูก)สองพระองค์ของกษัตริย์สมัยนครวัด แต่ก็มีหลากหลายความเห็นและข้อเล่าขานกัน
มาบางก็ว่าเป็นพระนางชัยราชเทวี และอินทรเทวีที่เป็นพระมเหสีของพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ 

ต้นเหตุที่ทำให้ประชาชนส่วนใหญ่สนใจและเคารพบูชาองค์เจก องค์จอมเพราะราษฎรในสมัยนั้นและหลังจากนั้นมาหน่อยให้ความสำคัญกับการทำงานที่สุจริตหรือการประกอบอาชีพสุจริต อ่อนน้อม ถ่อมตน และประกอบด้วยความเมตตา ของพระนางทั้งสองพระองค์และทั้งสองพระองค์ยังเป็นตัวอย่างในการนับถือพระพุทธศาสนาอย่างเคร่งครัดในสมัยนั้นอีกด้วยและยังเล่าขานกันต่อมาเรื่อยๆจนถึงสมัยพระเจ้าจันทรราชาขึ้นครองราชย์ในสตวรรษที่ ๑๖ พระองค์ทรงอนุญาตให้สร้างรูปปั้นของพระองค์เจกองค์จอม เพื่อให้ประชาชนเคารพบูชา 
               
เพราะรูปปั้นของพระนางทั้งสองพระองค์จึงทำให้ราษฎรทั้งพระนครมีความเป็นอยู่ที่สุขสบายร่มเย็น ประชาชนเลยเคารพบูชาและถือว่าเป็นพระพุทธรูปที่ศักดิ์สิทธิ์และมีชืื่อเสียงเรียงนามมากที่สุดในประเทศต่อมา หลังจากรูปปั่นทั้งสองดังกระฉ่อนไปไกลจนดังไปถึงผู้ที่มีอำนาจกับผู้ค้าขายทุจริตอื่นๆ ซึ่งพวกเขาได้เริ่มแผนการวางแผนที่จะขโมยรูปปั้นสำหรับเอามาครอบและประกอบการขายเขาเชื่อกันว่าถ้าได้มาครอบครองจะทำให้ทำมาหากินร่ำรวย เพราะฉะนั้นองค์เจกองค์จอมถึงได้หายไปในระยะหนึ่งช่วงที่เขมรทิ้งเมืองพระนคร หลังจากนั้นรูปปั้นก็ถูกเขาค้นพบอีกครั้งในปี ค.ศ.๑๙๕๐ ในป่าสวนของปราสาทบายยันต์(อ็องโกธม) โดยกลุ่มเจ้าหน้าที่อนุรักษ์จังหวัดเสียมเรียบ(เสียมราฐ) และได้เอาไปตั้งบูชาที่ปราสาทนครวัด
ด้านข้างองค์เจก องค์จอม จะมีศาลายายเทพตั้งกลางถนน เชื่อว่าบูชาขอให้ค้าขายเจริญรุ่งเรืองนักแล  
             โดยที่ตั้งของศาลายายเทพ จะตั้งอยู่ตรงกลางถนนพอดี ซึ่งรถราที่วิ่งผ่านจะต้องวิ่งวน ที่ตั้งศาลแห่งนี้และมีต้นไม้ขนาดใหญ่ ตั้งอยู่เบื้องหลังของศาลยายเทพแห่งนี้นั้นเองผมได้เดินลงมาสำรวจ และได้ถ่ายรูปไว้เป็นที่ระลึกจากนั้นจึงได้สำรวจในพื้นที่บริเวณในที่นั้นพบว่า ชาวเขมร ส่วนใหญ่ที่นับถือก็จะมาขอพรให้ทำมาหาค้าขายดี และเพื่อความเป็นศิริมงคลแก่ตัวเอง   จึงได้บันทึกเรื่องราวดังกล่าวไว้เป็นบทความ และได้ระลึกนึกถึงว่าครั้งหนึ่งเคยมาเยือนแล้วยังที่แห่งนี้..

 

                                 @@@@@@@@@@

ปราสาทนครธม เมืองหลวงสุดท้ายของขอมโบราณ กัมพูชา

ปราสาทนครทมเมืองหลวงขอม  แห่งสุดท้าย

                       ....โดย. ณ วงเดือน


เป็นที่ทราบกันดีว่า อาณาจักรสมัยขอมโบราณนั้นยิ่งใหญ่มีอาณาเขตแผ่ไพศาลไปทั่วแคว้น

         นครธม  (เขมรអង្គរធំ)   เป็นเมืองหลวงแห่งสุดท้ายและเมืองที่เข้มแข็งที่สุดของอาณาจักรขะแมร์ สถาปนาขึ้นในปลายคริสต์ศตวรรษที่ 12 โดยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 มีอาณาเขตครอบคลุมพื้นที่ 9 ตารางกิโลเมตร อยู่ทางทิศเหนือของ นครวัด ภายในเมืองมีสิ่งก่อสร้างมากมายนับแต่สมัยแรก ๆ และที่สร้างโดยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 และรัชทายาท ใจกลางพระนครเป็นปราสาทหลักของพระเจ้าชัยวรมัน เรียกว่า ปราสาทบายน และมีพื้นที่สำคัญอื่น ๆ รายล้อมพื้นที่ชัยภูมิถัดไปทางเหนือ

จุดเด่นที่สุดคือทางเข้าด้านใต้ ที่มีลักษณะเป็นหน้า 4 หน้า ก่อนจะเข้าสู่บริเวณนี้ จะเป็นแถวของยักษ์ (อสูร) ทางด้านขวา และเทวดาทางด้านซ้าย เรียงรายแบกพญานาคอยู่สองข้างสะพาน เมื่อเข้าสู่ใจกลางนครธมจะพบสิ่งก่อสร้างต่าง ๆ บริเวณประตูด้านใต้นี้ได้รับการอนุรักษ์ฟื้นฟูไว้ได้ดีกว่าบริเวณอื่น ๆ อีก 3 ด้าน


    ปราสาทนครธม  (Angkor Thom) นครธมเป็นเมืองหลวงแห่งสุดท้ายและเป็นเมืองที่เข้มแข็งที่สุดของอาณาจักรขอม มีอาณาเขตครอบคลุมพื้นที่ 9 ตารางกิโลเมตร อยู่ทางทิศเหนือของนครวัด จุดเด่นที่สุดคือทางเข้าด้านใต้ ที่มีลักษณะเป็นหน้าเทวพักตร์ 4 ด้าน ก่อนจะเข้าสู่บริเวณนี้ จะเป็นแถวของยักษ์ (อสูร) ทางด้านขวา และเทวดาทางด้านซ้าย เรียงรายแบกพญานาคอยู่ 2 สะพาน เมื่อเข้าสู่ใจกลางนครธมเป็นปราสาทหลักของพระเจ้าชัยวรมันเรียกว่า“ปราสาทบายน”
ปราสาทบายน (Bayon)  ปราสาทบายนประกอบด้วยองค์ปราสาทตั้งอยู่บนฐานซ้อนสามชั้น สมมุติให้เป็นทิพยสถานของเทพเจ้าบนยอดเขาพระสุเมร ด้วยปรางค์จัตุรมุข สลักป็นรูปพระพักตร์ของพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร มี 216 หน้า รวม 54 ปรางศ์  หันพระพักตร์ออกไปทั้งสี่ทิศ เพื่อสอดส่องดูแลทุกข์สุขของเหล่าพสกนิกรให้อยู่เย็นเป็นสุข รอยยิ้มบนพระพักตร์พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรร เรียกว่า "ยิ้มแบบบายน
   นี่คือข้อมูลบางอย่างบางตอน ที่ได้บันทึกถึงความเป็นมาของปราสาทนครทม  ซึ่งทงผู้เขียน ได้มีโอกาศไปเยี่ยมเยียนเที่ยวชมความงามอย่างยิ่งใหญ่   ตั้งแต่ประตูทางเข้าและกำแพงของพระนครที่มีความยิ่งใหญ่ตระการตามา
มีคูน้ำขนาดใหญ่รอบรอบพระนคร   การจะเข้าไปยังปราสาทนี้ จะต้องผ่านยังสะพานทั้ง 4 ด้าน ซึ่งวันนั้น ทางคนนำพา ชาวเขมร พามายังด้านสะพานเข้าที่ยังอยู่ในสภาพดีกว่า ทั้ง 3 ด้าน
     โดยเราลงจากรถสามล้อ เดินเที่ยวชมยัง สะพานข้ามมายังฝั่งของนคร  ซึ่งสองข้างสะพานนั้นจะทำเป็น ฝ่ายมาร
และฝ่ายยักษ์ ชักขะเย่อซึ่งพญานาคราช ในตำนานพระอินทร์กวนสมุทร มีเทวดาและยักษ์มร่วมงานกวนน้ำทิพย์ในครั้งน้น  โดยถือเอาศุนญ์กลางตัวปราสาท สมมติว่าเป็นเขาพระสุเมรุ  โดยรูปปั้นทั้งฝั่งยักษ์และเทวดา นั้นก็ถือว่ายังอยู่ในสภาพที่ยังไม่ชำรุดเท่าไร   แต่ลำตัวของพญานาาคนั้น ขาดหลุดหล่นแตกหักไปตลอดทั้งสองฝั้ง ซึ่งเมือนับย้อนไปแล้วมีอายุกว่าหลายพันปีเลยทีเดียว ยังคงมีสภาพที่สมบูรณ์เท่าที่เห็นตามสภาพอยู่ถึง 60 เปอเซนต์เลยทีเดียว
    เมื่อเราเข้าไปสู่ยังด้านในตัวปราสาทนั้นเรายังจะต้องใช้เวลาเดินทางเข้ามาอีกเป็นระยะทาง 3 ถึง 5 กม.เลยทีเดียว ถือว่าปราสาทนครทมแห่งนี้  มีพื้นที่ใหญ่โตมากกินพื้นที่หลายพันไร่เลยทีเดยว  เมื่อเรามาถึงด้านใน  ตรงกลางจะเป็นที่ตั้งตัวปราสาทหิน ที่มีรูปใบหน้า คล้ายพระพรหม หรือพระโพธิสัตว์ซึ่งต่างมองต่างกันออกไป ซึ่งมีการนำหินตัดเป็นก้อนวางเรียงทับซ้อนกันป็นระเบียบสวยงามมาก  
       มาอีกด้านซ้ายเหนือขึ้นมาของปราสาทนครทม จะเป็นลานช้างของพระเจ้าขี้เรือน ซึ่งตามเขาเล่ามาว่า และได้นำข้อมูลบางตอนมาจากเวป เกร็ดประวัติศาสตร์ จึงขอคัดลอกมา ลงไว้หน้าบันทึกท่องเที่ยวนี้ไว้ด้วยเป็นข้อมูลประดับความรู้ด้วยถึงความเป็นมาของลานช้างพระเจ้าขี้เรือนแห่งนี้ ดังนี้

           ที่ลานช้างแห่งนี้สร้างขึ้นมาเมื่อสมัยศตวรรษที่
12 มีภาพสลักนูนต่ำมากมาย โดยเฉพาะรูปตุ๊กตาหินที่วางอยู่เรียงรายเป็นแถวนั้น เล่ากันว่า เป็นที่มาของชื่อลานแห่งนี้ และเป็นตุ๊กตาที่ไม่มีใครกล้าแตะแม้แต่นิดเดียว

ตุ๊กตาเหล่านั้น เชื่อกันว่า เป็นตัวแทนแหง่ความวิบัติ ความเลวร้ายที่ได้บังเกิดขึ้นมาจากการสาปแช่งของพระฤาษีที่เล่ากันว่า เป็นแรงอาฆาตพยาบาทที่ตามจองเวรจนอาณาจักรแห่งนี้ล่มสลายในที่สุด
ย้อนหลังกลับไปใน สมัยที่เริ่มสร้างพระนครนั้น ตำนานของขอมโบราณเล่าถึงอุบัติกาลของปฐมกษัตริย์แผ่นดินตนว่า บรรพกษัตริย์ของตนนั้นถือกำเนิดขึ้นมาจากดอกบัว และต่อมากษัตริย์เกตุมาลาได้นำไปเลี้ยงไว้ และให้ชื่อว่า “ พระเจ้าปทุมสุริยวงศ์” ทรงครองเมือง “อินทรปัตถมนคร”
ต่อมาพระเจ้าปทุมสุริยวงศ์ ได้นางกษัตริย์ลูกสาวพญานาคเป็นพระมเหสี พญานาคจึงมาสร้างเมืองให้พำนักอาศัย เรียกว่า “นครธม” จนเมื่อพระเจ้าเกตุมาลาสิ้นพระชนม์ พระเจ้าปทุมสุริยวงศ์ จึงอุทิศเมืองนี้ให้เป็นวัด และนับแต่นั้นมา นาม “นครธม” ก็เปลี่ยนไป กลายเป็น “นครวัด” มาจนถึงทุกวันนี้
ในความรำลึกถึงบุญคุณอันยิ่งใหญ่และชาวเขมรทั่วไปเชื่อว่าพวกเขาสืบเชื้อสายมาจากพญานาค ดังนั้น พระเจ้าปทุมสุริยวงศ์จึงต้องจัดส่งเครื่องบรรณาการไปถวายแด่พญานาคทุกปี และหัวเมืองต่างๆที่เป็นเมืองขึ้นของขอมโบราณก็จำต้องส่งเครื่องบรรณาการมาถวายเมืองอินทรปัตถมนคร เช่นกัน
เมืองสุโขทัยนั้นส่งส่วยน้ำมาสู่เมืองเขมรทุกปี ในขณะที่เมืองตลุงส่งผ้าไหม และเมืองละโว้ส่งส่วยปลาแห้งมาให้ เป็นเช่นนี้สืบต่อกันมาแน่นอนว่า เรื่องพระร่วงเจ้าส่งส่วยน้ำให้ขอมก็เกิดขึ้นในยุคนี้เช่นกัน หากแต่พระร่วงเจ้าพระองค์นั้น หาใช่พ่อขุนรามคำแหงอย่างที่ใครเข้าใจไม่ เพราะเรื่องราวทั้งหลายเหล่านี้ล้วนแล้วแต่เกิดขึ้นมา ก่อนหน้ายุคพ่อขุนรามเกือบสองร้อยปีทีเดียว
ความตามตำนานของเขมรนั้นเล่าว่า หลังจากที่พระร่วงสาปแช่งให้พระยาเดโชที่ดำดินไปจับพระองค์จนกลายเป็นหินอยู่ในลานวัดมหาธาตุจนเป็นที่กล่าวขานกันนั้น ในเวลาต่อมาหลังจากที่เจ้าเมืองสุโขทัยได้ถึงแก่พิราลัย ผู้คนทั่วไปจึงยกพระองค์ขึ้นครองเมืองครานั้นพระร่วงเจ้ายกกองทัพเข้าสู่นครธมเพื่อปราบขอมให้อยู่ภายใต้อำนาจของสุโขทัย หากแต่ไม่สามารถที่จะเอาชนะและเข้าเมืองได้ พระเจ้าปทุมสุริยวงศ์จึงทรงให้เปิดประตูเมืองออกมา เพื่อประจันหน้ากัน พระร่วงตกใจในพระบรมเดชานุภาพจึงก้มลงกราบไหว้
ดินแดนที่กองทัพสยามพ่ายในครั้งนี้ จึงมีนามเรียกกันต่อมาว่า “เสียมราบ” หรือ “เสียม
เรียบ” นับแต่นั้น
แต่หลังจากที่สิ้นสมัยของพระเจ้าปทุมสุริยวงศ์ เจ้าเมืองเขมรพระองค์ใหม่ คือพระยาพาล ขึ้นครองราชย์สืบแทน และไม่ยอมรับนับถือพญานาคผู้เป็นต้นวงศ์แห่งเขมรทั้งปวง ดังนั้นจึงได้ทำสงครามสู้รบกับพญานาคขึ้นมา ปรากฏว่าพระเจ้ากรุงพาล หรือพระยาพาลจับตัวพญานาคได้ และใช้ดาบตัดหัวนาคทิ้งทันที
เรื่องราวของลานพระเจ้าขี้เรื้อนจึงเกิดขึ้นที่ตรงนี้....
เพราะทันทีที่เลือดนาคกระเด็นออกมากระทบพระวรกายของพระเจ้ากรุงพาลเข้า เลือดนาคที่มีพิษก็สำแดงฤทธิ์ กัดกร่อนร่างกาย ทำให้กลายเป็นโรคเรื้อนลุกลามไปทั้งตัว
แล้วโรคเรื้อนนั้น ว่ากันว่าก่อนหน้านี้หายง่ายเสียที่ไหน ร้อยทั้งร้อย รักษาให้ตาย ก็ไม่สามารถที่จะกลับกลายมาเหมือนเดิมได้อีก ดังนั้น เมื่อกษัตริย์มาเป็นโรคเรื้อนเสียเอง พระเจ้ากรุงพาลก็เกิดความอับอายให้ทหารป่าวประกาศไปว่าถ้าใครรักษาพระองค์หายก็จะยกเมืองให้ปกครองครึ่งหนึ่ง
ในยามนั้นมีฤาษีองค์หนึ่งซึ่งบำเพ็ญตบะอยู่ในกรุงอินทรปัตถมนครได้เดินทางมาช่วยรักษาให้กับพระองค์ด้วยจิตใจที่เมตตา หากแต่ไม่รู้ว่าด้วยความเป็นคนสันดานพาลหยาบช้าหรือว่าอย่างไร กลับทำให้พระเจ้ากรุงพาลเกรงว่าถ้าหากฤาษีรักษาตนเองหายขึ้นมาก็จะต้องเสียเมืองไปครึ่งหนึ่ง


อย่าว่าแต่กระนั้นเลย จำต้องฆ่าฤาษีทิ้งไป แล้วเอาตัวยาที่ฤาษีให้มารักษาเองดีกว่า เรียกว่าไม่ต้องสูญเสียอะไร ว่าแล้วก็สั่งให้ประหารชีวิตฤาษีทิ้งเสียที่ทางใต้พระนครนั่นเอง
หลังจากที่พระเจ้ากรุงพาลรับสั่งให้ประหารชีวิตฤาษีที่มารักษาตนเองทิ้ง ทำให้ฤาษีอีกองค์หนึ่งซึ่งเป็นสหายกันเกิดความเคียดแค้นชิงชังพระยาพาลยิ่งนัก จึงได้สาปแช่งว่าเมืองอินทรปัตถมนครแห่งนี้มีคนพาลหยาบช้าครองเมือง ขออย่าให้ชีวิตรุ่งเรือง เจ้าเมืองคนใดขึ้นครองราชย์ก็อย่าให้ได้อยู่ในความสบายให้พบกับความวิบัติฉิบหายด้วยเวรกรรมที่มีต่อกันหลังจากนั้นอาถรรพณ์จากคำสาปแช่งจึงบังเกิดขึ้นมาในเมืองอินทรปัตถมนคร เมื่อปรากกว่ายารักษาโรคเรื้อนที่ฤาษีเคยให้มานั้น เสื่อมสภาพไม่สามารถรักษาได้ พระเจ้ากรุงพาลจำต้องพาบรรดาพระสนมและพระมเหสีแอบหนีไปรักษาพระองค์อยู่ที่เขาแปดเหลี่ยม หรือเขากุเลน (ลิ้นจี่ ชาวเขมรเรียกภูเขานี้ว่า พนมกุเลน)
แต่ด้วยคำสาปที่บังเกิดจากบาปกรรมที่ก่อขึ้นมา ปรากฏว่าพระเจ้ากรุงพาลไม่สามารถที่จะรักษาตัวเองให้หายได้ ทั้งพระสนมและพระมเหสี ต่างก็ติดโรคร้ายชนิดนี้กันถ้วนหน้า
มีเรื่องเล่าต่อมาว่า ด้วยฤทธิ์จากคำสาปที่เกิดขึ้นมา พระเจ้ากรุงพาลและพีระสนม ชายา ทั้งหลายได้กลายเป็นหินอยู่ที่พนมกุเลนนั่นเอง

อย่างที่กล่าวเอาไว้แต่ต้นแล้วว่า ฤาษีสาปแช่งเอาไว้ว่าอย่าให้กษัตริย์ในภายหลังที่ขึ้นครองเมืองอินทรปัตถมนครนั้นครองสมบัติอยู่นาน ดังนั้นกษัตริย์ในรัชกาลต่อมาส่วนใหญ่จึงมีอำนาจวาสนาครองบัลลังก์ด้วยเวลาอันสั้นแทบทุกคน
จนกระทั่งมาถึงสมัยของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ซึ่งถือว่าเป็นมหาราชองค์สุดท้ายของกัมพูชาซึ่งพระองค์ทรงสืบเชื้อสายมาจากพระบิดาที่ทรงขึ้นครองราชย์ในกัมพูชาด้วยระยะเวลาอันสั้นยิ่งนัก
มารดาของพระองค์นั้น สืบเชื้อสายมาจากพระราชวงศ์กัมพูชาที่มาจากต่างแดน ( ชัย ทิตยปุระ) และพระองค์ถือกำเนิดขึ้นมาในสมัยที่พระเจ้าชัยวรมันที่ 2 ทรงให้สถาปนานครวัดขึ้นมา เพื่อความเกรียงไกรในแผ่นดิน
พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ทรงอุปภิเษกกับเจ้าหญิงชัยเทวี ตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ และพระองค์ทรงได้เข้าร่วมสงครามในการป้องกันเมืองวิชัยปุระ หรือว่าเมืองบินทินในปัจจุบันจากการรุกรานของอาณาจักรจามปาซึ่งรุ่งเรืองขึ้นมาในสมัยนั้น
ในการจากพรากของพระสวามีทำให้พระนางชัยเทวีโศกศัลย์อาดูรยิ่งนัก ซึ่งพระขนิษฐาของพระนางสลักจารึกเอาไว้ในแผ่นหินที่ฐานพระราชวังหลวงถึงความอาดูรนี้ว่า
ภรรยาต้องอาบน้ำตา โศกสลดเช่นสีดาที่รอคอยพระสวามี ได้แต่สวดวิงวอน ให้พระองค์กลับคืนมาตามพิธีกรรมของพราหมณ์ แต่ในที่สุดพระนางก็ได้พบวิธีฝึกสมาธิตามแบบพุทธศาสนา”
ระหว่างการสู้รบที่ประเทศจามปา พระราชบิดาคือพระเจ้าธรนินทรวรมัน ที่ 2 ได้สิ้นพระชนม์ลง พระญาติคือพระเจ้ายโสวรมัน ที่ 2 เข้ามาแย่งราชสมบัติไปครองหากแต่ก็อยู่ได้ไม่นาน เพราะหลังจากนั้น ขุนพลผู้ที่เคยยืนอยู่เคียงข้างบัลลังก์ก็เป็นกบฏ ยึดอำนาจ สถาปนาตนเองขึ้นมาครองราชย์นามว่า “ พระเจ้าตรีภูวนาทิตย์” ซึ่งเป็นเจ้าแห่งสามโลก
เมื่อข่าวราชสมบัติของราชวงศ์ถูกขุนพลแย่งไปครอง พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ทรงยกกองทัพกลับคืนมาหมายจะแก้ไข แต่ก็ไม่สามารถที่จะทำอะไรได้ เพราะทุกอย่างมันสายไปเสียแล้ว
พระองค์ทรงต้องรอนแรมหลบซ่อนตัวเพื่อส้องสุมผู้คนและกำลังทหารอยู่นานถึง 15 ปี โดยที่ไม่สามารถจะกลับคืนมายังพระนครได้ ซึ่งในระหว่างนั้น พระเจ้าตรีภูวนาทิตย์ คิดที่จะยกพระนางชัยเทวีขึ้นมาเป็นพระชายา หากแต่พระนางไม่ทรงปรารถนา จึงถูกนำมาจองจำเอาไว้ในปราสาทที่ลานพระเจ้าขี้เรื้อนแห่งนี้
พระนางได้แต่ทรงสวดมนต์อ้อนวอน ขอให้พระสวามีได้กลับคืนมาสู่พระนครอย่างจงรักภักดีจนถึงนาทีสุดท้ายแม้ขณะที่สิ้นพระชนม์ไปในปี พ.ศ. 1709 พระนางก็ยังเฝ้ารำพันถึงแต่พระองค์

จนหลังจากนั้นอีก 11 ปี ต่อมา ใน พ.ศ.1720 พวกจามปาจึงได้บุกเข้าโจมตีกัมพูชาและจับเอา พระเจ้าตรีภูวนาทิตย์ สำเร็จโทษเสีย พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 จึงได้เห็นเป็นโอกาสที่ดี นำกองทัพเขมรโจมตีกองทัพของจามปาแตกพ่ายไป และได้สถาปนาพระองค์ขึ้นมาเป็นมหาราชองค์ผู้ยิ่งใหญ่ในแผ่นดินกัมพูชา
น่าเสียดายที่ว่า เมื่อถึงสมัยของพระเจ้าอินทรวรมันที่ 2 ซึ่งเป็นพระราชโอรสของพระองค์ทรงขึ้นครองราชย์นั้น บรรดาราชปุโรหิตย์ที่นับถือศาสนาฮินดูได้ยุยงให้พระองค์ปฏิรปสาสนาเสียใหม่ วัดวาอารม พระพุทธรูปในพุทธศาสนาถูกทำลาย
แม้กระทั่งรูปเคารพของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ผ้เป็นพระราชบิดาซึ่งทรงสนับสนุนพุทธศาสนามาตลอดก็ยังถูกทำลายจนทำให้บ้านเมืองเกิดความวุ่นวาย ผู้คนเบื่อหน่ายและเสื่อมศรัทธา ซึ่งพวกชาวเขมรเชื่อกันว่า เวทย์มนต์ คาถาอันศักดิ์ที่คุ้มครองแผ่นดินกัมพูชามาแต่โบราณนั้นถูกทำลายให้เสื่อสมสลายลงไปในรัชสมัยนี้เอง
ดังนั้นเมื่อส้นสมัยของพระองค์ พระเจ้าชัยวรมันที่ 8 ขึ้นครองราชสืบต่อมา หากแต่ว่า บ้านเมืองล่มสลาย สุดท้ายอาณาจักรกัมโพชที่รุ่งเรืองมากว่าหนึ่งพันปีจึงถึงกาลอวสานในสมัยนั้น ซึ่งชาวกัมพูชาทั้งในอดีตและปัจจุบัน ต่างก็เชื่อกันว่า สืบเนื่องมาจากอาถรรพณ์ของลานพระเจ้าขี้เรื้อนแห่งนี้นั่นเอง.

       

@@@@@@@@@@@@@

หลวงพ่อเขียว วัดหัวคู้ เส้นทางเดินทัพพระเจ้าตาก จ.สมุทรปราการ

หลวงพ่อเขียว  สุโขพุทโธภควา

วัดหัวคู้วราราม  ต.ศรีษะจรเข้ อ.บางเสาธง

จ.สมุทรปราการ

    จากซอยสุวรรณ 5 อ่อนนุช แขวงและเขตลาดกระบัง  เข้ามาตามทาง ระยะประมาณ 3 กม.  ที่นี่จะเป็นที่ตั้งของวัดหัวคู้ ซึ่งมีพระพุทธรูป ขนาดใหญ่ที่มีชื่อว่า หลวงพ่อเขียว สุโขพุทโธภควา มีที่ดินตั้งวัดเนื้อที่ 23 ไร่ 1 งาน 56 ตรว. ทิศเหนือ ติดกับคลองหัวตะเข้ หนองงูเห่า ทางทิศใต้ติดต่อกับที่เอกชน  ทิศตะวันออกติดกับ คลองจรเข้น้อย 
ที่วัดนี้ มีอุโบสถหลังเก่าและใหม่ หลังเก่าสร้างเมื่อปี
 พ.ศ. 2485  ส่วนอุโบสถหลังใหม่  สร้างปี พ.ศ 2536          
เสร็จในปี 2539  มีหลวงพ่อเขียว สุโขพุทโธภควา
หน้าตักกว้าง 9.19 ม. สูง 13 ม.                             

ประวัติวัดหัวคู้วราราม                สร้างเมื่อประมาณ ปี พ.ศ. 2409  ไม่ทราบผู้สร้างวัด ชาวบ้านเรียกต่อ ๆ กันมา ว่าวัดคู้ หรือวัดศรีษะคู้

มีรายนามเจ้าอาวาส ที่บันทึกไว้ได้ดังนี้                     

1. พระอาจารย์อยู่                                                           2.พระอาจารย์ยัง                                                             3.พระอธิการฉุย                                                               ปี พ.ศ. 2409-2444                                                      

 4. พระอธิการแตงโม
       พ.ศ.  2445-2464
5. พระอธิการพลอย
      พ.ศ. 2465-2485
6.พระอธิการอ่อน
    พ.ศ. 2485-2493
7. พระอธิการทิม
   พ.ศ.2493-2520
8.พระอธิการทอง
    พ.ศ.2520-2539
9.พระครูไพศาลพัฒน์โสภณ
  พ.ศ.2539-
10.พระครูบวรพัฒนโกศล
ปัจจุบันมีหลวงพ่อเจ้าคุณพระปริยัติวงศาจารย์ 
( ประชุม ปวโร ) เจ้าคณะตำบลศรีษะจรเข้ใหญ่ และเป็นเจ้าอาวาสวัดหัวคู้ องค์ปัจจุบัน

   มีเรื่องเล่าต่อๆ กันมาว่า ยุคสงครามพม่ารบไทย ครั้งเสียกรุงเสียอยุธยา 

พระเจ้าตากสิน พร้อมไพร่พลเดินทัพผ่านมาทางนี้  และแวะพักที่บริเวณตั้งวัดหัวคู้แห่งนี้  พระองค์ทรงเห็นว่า เป็นที่ทำเลเหมาะที่จะพักทัพเพราะมีแม่น้ำลำคลองล้อมรอบ ยากที่ข้าศึกจะเข้าตีได้ง่าย จึงได้พักทัพที่ตรงนั้น และได้สะสมเสบียงอาหารและรวบรวมไพร่พลมากขึ้น เมื่อเห็นแก่เวลาสมควรแล้ว จึงได้เดินทัพต่อไปเพื่อไปยังจันทบุรี
และพระองค์เห็นว่า ที่พักทัพนี้ต่อไปภาคหน้า ที่แห่งนี้ จะมีคุณประโยชน์อย่างยิ่งใหญ่ และตั้งจิตอธิษฐานให้สถานที่แห่งนี้เป็นวัดในอานคต จึงได้มอบพระพุทธรูปโลหะมีค่า และได้สร้างที่ครอบองค์พระไว้ ให้โปรดทหารชื่อเขียว เป็นผู้ดูแลทรัพย์สินที่ฝังไว้ในที่ดังกล่าวนี้
             มาดูประวัติหลวงพ่อเขียวองค์เดิมและองค์ปัจจุบันนี้  ตามข้อมูลของทางวัดหัวคู้ ที่ได้แจกเป็นแผ่นพับให้ข้อมูลดังนี้ ว่า พระพุทธรูปปูนปั้นสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย และปูนปั้นสมัยกรุงธนบุรี
   ตามประวัติเดิมจากคำบอกเล่าของผู้สูงอายุ เล่าสืบต่อกันมาว่า วัดหัวคู้ นี้เริ่มต้นจาก สมัยที่พระเจ้าตากสินมหาราช เสด็จตีฝ่ากองทัพพม่าที่ล้อมกรุงศรีอยุธยาออกมา ตอนใกล้จะเสียกรุงครั้งที่ 2 นั้น พระองค์ได้ฝ่า วงล้อมของพม่า มาทางทิศตะวันออก มุ่งไปทางชลบุรี และได้มาพักหนีทัพพม่าที่ชัยภูมิแห่งหนึ่ง  เป็นทำเลที่มีคูน้ำ ล้อมรอบ 2 ทาง ที่ชาวบ้านเรียกว่า คุ้งน้ำ คือเป็นจุดที่อยู่ระหว่าง คลองหัวตะเข้ มาเชื่อมกับคลองหนองงูเห่า พระองค์ได้มาพักทัพที่นี่  มีความรู้สึกปลอดภัยและสงบ  ไม่มีทหารพม่ารบกวนใจในขณะนั้น
พระองค์จึงได้อธิษฐาน ว่าที่นี่ต่อไปจะเป็นวัดที่มีความเจริญรุ่งเรือง

      พระองค์จึงได้นำพระพุทธรูปและสมบัติจากรุงศรีอยุธยา ที่รวบรวมนำติดตัวมา ( คาดว่าเป็นพระชัยหลังช้างทองคำ ) ฝังไว้ที่วัดหัวคู้แห่งนี้ และได้ก่ออิฐถือปูน เป็นแท่นสัญญลักษณ์ทับไว้ก่อน  ต่อมาได้มีนายทัพเสียชีวิตลงไปอีก พระองค์จึงได้สร้างพระเจดีย์ทับที่ฝังศพนายทัพไว้ในปัจจุบันนี้ พบว่ามีฐานพระเจดีย์อยู่ และมีชาวบ้านบางคนได้ลักลอบขุดได้ง้าว และดาบอันเป็นอาวุธประจำตัวของแม่ทัพคนนั้นไปด้วย    ในเวลาต่อมาทหารแม่ทัพนายกองของพระองค์ และชาวบ้านในบริเวณนั้น
       ได้มาทำการก่อสร้างบริเวณแท่นที่ทับสมบัตินั้นให้เป็น พระพุทธรูปปูนปั้นหน้าตักประมาณ 6 เมตร  โดยก่ออิฐถือปูนธรรมดา  คิดว่าคงจะเป็นเพราะบ้านเมืองกำลังกู้ชาติ อยู่คงไม่มีเวลาทำมากนัก   มีหลักฐานชิ้นส่วน หลวงพ่อเขียวองค์เดิม คือเม็ดพระศกที่ทำมาจากปูนโขลก คือปูนเปลือกหอยผสมน้ำอ้อย ที่ยังเก็บไว้ว่ามีอายุ ตั้งแต่ 200 ปี ขึ้นไป เม็ดพระศกมีขนาดเท่ากำปั้นผู้ใหญ่ และได้มีการก่อสร้าง เพิงไม้คลุมองค์พระไว้เท่านั้น
    ต่อมาในสมัย พระอุปัชชาย์ พลอย ประมาณปี พ.ศ.2480  ได้มีการเลื่อนองค์หลวงพ่อเขียวออกไป เพื่อที่จะสร้างอุโบสถหลังปัจจุบัน ( หลังเล็ก ) ทำให้หลวงพ่อเขียวพังทลายลง และชาวบ้านในสมัยนั้นได้พบสมบัติที่ฝังไว้ใต้ฐานของหลวงพ่อเขียวหลายอย่างเช่น พระบูชาทองคำ  หน้าตัก 3 นิ้ว พระเครื่อง เครื่องประดับต่าง ๆ ( ปัจจุบันตกอยู่กับชาวบ้านใกล้เคียงบางคน ) แต่ก็ได้มีปาฎิหาริย์เกิดขึ้น คือสมบัติอื่น ๆ ส่วนใหญ่ ได้เลื่อนไหลลงไปใต้ดิน มีเสียงดังครืดคราด เกิดเป็นหลุมขนาดลึก ที่ว่าไม้รวก 1 ลำ แหย่ลงไปไม่สุด และบางท่านก็ว่าเกิดไฟไหม้ ลุกท่วมหลุมนั้นอยู่หลายวัน
       จนถึงปัจจุบันนี้ องค์หลวงพ่อเขียวองค์เดิม ที่คาดว่า เป็นพระชัยหลังช้างทองคำ ของพระเจ้าตากสินมหาราช ยังไม่ได้เสด็จขึ้นมาจากใต้ดิน  ให้ประชาชนทั่วไปได้สักการะบูชาอีกเลย (บางท่านก็ว่า พระที่จมลงไปใต้ดินมี 3 องค์ หน้าตักประมาณศอกเศษ )  และชิ้นส่วนของหลวงพ่อเขียว ปูนปั้นนั้นได้ถูกทำลายลงหมด ด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ จึงทำให้เจ้าอาวาสสมัยนั้น ได้ทุบองค์องค์พระและไปเกลี่ยทำพื้นถนน ตั้งแต่หน้าโบสถ์ ไปจนถึงศาลาท่าน้ำ คลองหัวตะเข้ ทั้งหมดจึงทำให้เรื่องราวต่าง ๆ ได้เงียบหายไป
       ครั้นถึงวันศุกร์ที่ 18 กพ. 2520  ขึ้น 1 ค่ำ เดือน 4  หลวงพ่อบุญปลูก (พระครูไพสาลพัฒนโสภณ ) ได้ถูกนิมนต์ให้มาดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสที่วัดหัวคู้แห่งนี้  ท่านได้เดินทางมาทางเรือ ขึ้นที่ท่าน้ำคลองหัวตะเข้  ขณะที่เดินไปทางถนนเข้าหน้าอุโบสถหลังเก่า  ท่านมีความรู้สึกว่า เดินไม่ได้ ขาสั่นอ่อนแรง ก้าวขาไม่ออก ท่านจึงจึงเดินลงพื้นดินก็เดินได้เป็นปกติ  ท่านพยายามอยู่หลายครั้ง ตอนนั้นก็มีผู้อยู่ในเหตุการณ์หลายคนจำได้ดี

    หลวงพ่อบุญปลูก จึงตัดสินใจรื้อขุดถนนหน้าอุโบสถ ตลอดไปจนถึงท่าน้ำก้พบเป็นหน้าอัศจรรย์ว่า ชิ้นส่วน ปูนปั้น หลวงพ่อเขียวสมัยกรุงธนบุรี นั้น ทั้งหมดได้ถุกฝังอยู่ใต้ถนน  เป็นที่น่าสังเวชใจต่อผู้พบเห็นเป็นยิ่งนัก  และต่อมาได้มีการรื้อศาลาการเปรียญหลังเก่าก้พบชิ้นส่วนหลวงพ่อเขียว องค์เดิมที่ใต้บันไดทางขึ้นอีก  ต่อมา อีก 2 เดือน หลวงพ่อบุญปลูกได้มีกำลังใจมากขึ้น จึงทำการก่อสร้าง หลวงพ่อเขียวขึ้นใหม่ให้มีขนาดเท่าองค์เดิม
    และได้มีพระนามใหม่ว่า หลวงพ่อเขียวสุโขพุทโธภควา และได้บรรจุ ชิ้นส่วนปูนปั้นของหลวงพ่อเขียวองค์เดิม ไว้ทั้งหมด พร้อมกับพระเครื่องบางพิมพ์ที่พบตอนหลวงพ่อเขียวพังลงมา (น่าเสียดายไม่ได้ถ่ายรูปไว้ ) จะยังคงเหลือเพียงแต่เม้ดพระศกบางส่วน ที่นำมาแสดงไว้ให้ทราบถึงอายุของหลวงพ่อเขียวองค์เดิมและมีส่วนเกี่ยวข้องกับพระเจ้าตากสินมหาราชวีระกษัตริย์ ของชาวไทยอย่างไร
    ด้วยบารมีและกำลังใจจากหลวงพ่อเขียวสุโขพุทโธภควา วัดหัวคู้ได้พัฒนาขึ้นมาจากวัดเดิม ซึ่งทรุดโทรมจนกระทั่งในปัจจุบันนี้  มีการก่อสร้างอุโบสถหลังใหม่ พระมหาเจดีย์ ศาลาการเปรียญ พร้อมกันกับอบรมอย่างเข้มงวดในวัตรปฎิบัติให้งามถึงพร้อมด้วยศีล สมาธิ ปัญญา
    หลักฐานที่มีอยู่ในปัจจุบัน คือชิ้นส่วนพระศกของหลวงพ่อเขียวองค์เดิม มีขนาดเท่ากำปั้นผู้ใหญ่ และฐานพระเจดีย์เก่าซึ่งยังไม่ได้มีการขุดแต่งและบุรณะ ขอชมได้ทุกวันที่กุฎีเจ้าอาวาส และมีหลักฐานบางอย่าง จากกรมการศาสนามีชื่อปรากฏว่าหลวงพ่อเขียว และวัดหัวคู้ มีมาแต่สมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์
   ในอดีตที่ผ่านมา บางครั้งในเวลากลางคืน   จะมีชาวบ้านบางคนเห็นแสงพุ่งออกมาจากวิหารหลวงพ่อเขียว เสมอ และบางครั้งจะเห็นพระเจ้าตากสินมหาราช แต่งเครื่องทรงพระมหากษัตริย์เต็มพระองค์ออกเดินไปในบริเวณวัด   และในวัดหัวคู้ก็ได้มีการสร้าง รูปเหมือนองค์พระเจ้าตากสินมหาราชไว้ให้ประชาชนกราบสักการะบูชาพระคุณด้วย นี่เป็นส่วนหนึ่งบางตอน  ที่ได้บันทึกไว้ เมื่อ 1 ธค.2536  จากคำบอกเล่าของ พระครูไพศาลพัฒนโสภณ พระอาจารย์ วน ชิตมาโร คุณตานิ่มเผือก แสงทิพย์ อายุ 90 ปี   คุณยายมาลี ชูอำไพ ท่านผู้ใหญ่โพธิ์ ศรีเกตุ

(หมายเหตุเรื่องนี้ ของพระนามหลวงพ่อเขียวสุโขภควา )
  มาจากเหตุดังนี้
1.พระนามเดิมของพระองค์ คือหลวงพ่อเขียว เนื่องจากตอนนั้นมีนายกองเสียชีวิตลงมีชื่อว่า เขียว
2.องค์พระเดิมเป็นปูนปั้น ตะไคร้น้ำจับมากทำให้แลดูลักษณะ เหมือนสีเขียว หุ้มองค์พระ
3.ศิลปะพระพักตร์ ที่ปั้นองค์ใหม่ พ.ศ.2520 เป็นแบบสุโขทัย อก เป็นแบบเชียงแสน หน้าตักแบบรัตนโกสินทร์
4.พุทโธ เป็นนามพรพุทธเจ้า แปลว่า ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน ภควา แปลว่า ผู้มีโชค

 นี่คือคาถาบูชา หลวงพ่อเขียว สุโขพุทโธ ภควา  ตั้ง นโม 3 จบ ระลึกถึงครูบาอาจารย์ ผู้มีพระคุณ แล้วกล่าวคำ ว่า พุทโธภควา 3 ครั้งแล้วอธิษฐานขอในสิ่งที่พึงปรารถนา ในทางสุจริต
   บันทึกเที่ยวในความทรงจำ  จึงได้บันทึกเรืองราวความเป็นมานี้ไว้ ให้อยู่ในความทรงจำของผู้เขียน และเป็นข้อมูลได้รับรู้เรื่องราวต่าง ๆ ไว้ตลอดไป..
                                                                  ณ  วงเดือน..